น้ำเสียจากอาคารคืออะไร
น้ำเสียจากอาคาร คือ น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคของผู้ที่อาศัยในอาคาร หรือเกิดขึ้นจากการปนเปื้อนจากกิจกรรมต่าง ๆ ในอาคาร โดยอาจประกอบด้วย ของแข็ง สารอินทรีย์ สารจุลินทรีย์ หรือสารเคมี เช่น การซักล้าง การขับถ่าย การประกอบอาหาร เป็นต้น
ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารอันตรายที่อาจก่อผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมน้ำเสียภายในอาคารไม่ให้เกิดค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ด้วยการทำระบบบำบัดน้ำเสียอาคารนั่นเอง
การแบ่งประเภทอาคาร
ประเภทอาคาร | ก | ข | ค | ง | จ |
1. อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด | ตั้งแต่ 500 ห้องนอน | 100 แต่ไม่ถึง 500 ห้องนอน | ไม่ถึง 100 ห้องนอน | – | – |
2. โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม | ตั้งแต่ 200 ห้อง | 60 แต่ไม่ถึง 200 ห้อง | ไม่ถึง 60 ห้อง | – | – |
3. หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก | – | ตั้งแต่ 250 ห้อง | 50 แต่ไม่ถึง 250 ห้อง | 10 แต่ไม่ถึง 50 ห้อง | |
4. สถานบริการ | – | ตั้งแต่ 5,000 ตรม. | 1,000 แต่ไม่ถึง 5,000 ตรม. | – | – |
5. โรงพยาบาลของทางราชการหรือสถานพยาบาลตามกฎหมาย | มีตั้งแต่ 30 เตียง | 10 แต่ไม่ถึง 30 เตียง | – | – | – |
6. อาคารโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาของทางราชการ | ตั้งแต่ 25,000 ตรม. | 5,000 ไม่เกินกว่า 25,000 ตรม. | – | – | – |
7. อาคารที่ทำการของราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การระหว่างประเทศ หรือเอกชน | ตั้งแต่ 55,000 ตรม. | 10,000 แต่ไม่ถึง 55,000 ตรม. | 5,000 แต่ไม่ถึง 10,000 ตรม. | – | – |
8. อาคารของศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า | ตั้งแต่ 25,000 ตรม. | 5,000 แต่ไม่ถึง 25,000 ตรม. | – | – | – |
9. ตลาด | ตั้งแต่ 2,500 ตรม. | 1,500 แต่ไม่ถึง 2,500 ตรม. | 1,000 แต่ไม่ถึง 1,500 ตรม. | 500 แต่ไม่ถึง 1,000 ตรม. | – |
10. ภัตตาคารและร้านอาหาร | ตั้งแต่ 2,500 ตรม. | 500 แต่ไม่ถึง 2,500 ตรม. | 250 แต่ไม่ถึง 500 ตรม. | 100 แต่ไม่ถึง 250 ตรม. | ไม่ถึง 100 ตรม. |
คุณภาพน้ำตามประเภทอาคาร
ดัชนีคุณภาพน้ำ | หน่วย | ก | ข | ค | ง | จ |
1. ค่าความกรดด่าง (pH) | 5 – 9 | 5 – 9 | 5 – 9 | 5 – 9 | 5 – 9 | |
2. บีโอดี (BOD) | มก. / ล. | ไม่เกิน 20 | ไม่เกิน 30 | ไม่เกิน 40 | ไม่เกิน 50 | ไม่เกิน 200 |
3. ปริมาณของแข็ง 3.1 ค่าสารแขวนลอย (Suspended solids) | มก. / ล. | ไม่เกิน 30 | ไม่เกิน 40 | ไม่เกิน 50 | ไม่เกิน 50 | ไม่เกิน 60 |
3.2 ค่าตะกอนหนัก (Settleable solids) | มก. / ล. | ไม่เกิน 0.5 | ไม่เกิน 0.5 | ไม่เกิน 0.5 | ไม่เกิน 0.5 | – |
3.3 ค่าสารที่ละลายได้ทั้งหมด (Total Dissolved Solid) | มก. / ล. | ไม่เกิน 500 | ไม่เกิน 500 | ไม่เกิน 500 | ไม่เกิน 500 | – |
4. ค่าซัลไฟด์ (Sulfide) | มก. / ล. | ไม่เกิน 1 | ไม่เกิน 1 | ไม่เกิน 3 | ไม่เกิน 4 | – |
5. ไนโตรเจน (Nitorgen) ในรูป TKN | มก. / ล. | ไม่เกิน 35 | ไม่เกิน 35 | ไม่เกิน 40 | ไม่เกิน 40 | – |
6. น้ำมันและไขมัน (Fat , Oil and Grease) | มก. / ล. | ไม่เกิน 20 | ไม่เกิน 20 | ไม่เกิน 20 | ไม่เกิน 20 | ไม่เกิน 100 |
ระบบบำบัดน้ำเสียอาคารมี 2 แบบ คือ แบบทางกายภาพและชีวภาพ
การบำบัดทางกายภาพ
สำหรับการบำบัดน้ำเสียอาคารทางกายภาพ เป็นวิธีการแยกเอาสิ่งสกปรกที่เจือปนออกจากน้ำเสีย ทำให้น้ำเสียภายในอาคารสะอาดมากพอที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันใช้อุปกรณ์ในการบำบัดด้วยกันหลักๆ 2 อย่าง ได้แก่
1.ตะแกรงดักขยะ
ใช้สำหรับดักจับขยะชิ้นใหญ่ๆ ที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ เช่น พลาสติก เศษไม้ เศษกระดาษ ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญไม่น้อย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักร ซึ่งในระบบบำบัดน้ำเสียอาคารจะมีตะแกรงดักขยะ 2 แบบ คือ ตะแกรงหยาบ และตะแกรงละเอียด
2.บ่อดักไขมัน
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แยกไขมันไม่ให้ไหลไปปะปนกับน้ำทิ้ง ถือเป็นการช่วยรักษาสภาพน้ำในขั้นต้น ก่อนที่จะปล่อยไปยังระบบบำบัดน้ำเสียในขั้นตอนต่อไป ซึ่งในบ่อดักไขมันนั้นจะประกอบไปด้วย ส่วนกักเก็บน้ำเพื่อไขมันและไขมันลอยตัว น้ำมันและไขมันที่แยกตัวออกจากน้ำเสียจะลอยขึ้นเป็นชั้นอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งเราจะต้องช้อนไขมันและน้ำมันส่วนนี้ไปทิ้ง และน้ำส่วนที่อยู่ใต้ชั้นไขมันจะไหลไปที่ท่อระบายน้ำทิ้ง
การบำบัดทางชีวภาพ
สำหรับการบำบัดน้ำเสียอาคารทางชีวภาพ ปัจจุบันนี้สามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่
1.ระบบบำบัดน้ำเสียอาคารแบบใช้อากาศ
1.1.ระบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์ (Activated sludge system)
เป็นวิธีการทางชีววิทยาด้วยแบคทีเรียที่ใช้ออกซิเจน ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ ถังเติมอากาศและถังตกตะกอน ถังเติมอากาศเป็นถังที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ จุลินทรีย์จะทำการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ทำให้น้ำสะอาดมากขึ้น หลังจากนั้นน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลไปที่ถังตกตะกอนเพื่อทำการแยกแบคทีเรียออกจากน้ำเสีย และระบายน้ำเสียสู่แหล่งรับน้ำ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 4 แบบ ดังนี้
1.1.1. ระบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์แบบกวนสมบูรณ์ : จะต้องมีถังเติมอากาศที่สามารถกวนได้และมีสลัดจ์อยู่ในถังผสม เป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั่วทั้งถังและจำเป็นต้องมีการเวียนตะกอนจากถังตกตะกอนย้อนกลับมาที่ถังเติมอากาศ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย
1.1.2. ระบบแอกติเวเต็ดสลัดจ์แบบปรับเสถียรสัมผัส : จะแยกถังเติมอากาศเป็น 2 ถัง คือ ถังสัมผัสและถังย่อยสลาย โดยตะกอนที่สูบขึ้นมาจากก้นถังตกตะกอน จะถูกส่งมาเติมอากาศอีกครั้งในถังย่อยสลาย ตะกอนจะถูกส่งมาสัมผัสกับน้ำเสียในถังสัมผัส เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจะไหลไปยังถังตกตะกอนเพื่อแยกส่วนน้ำกับตะกอนในถังถัดไป
1.1.3. ระบบคลองวนเวียน : มีลักษณะเป็นวงรีหรือวงกลม ทำให้น้ำสามารถไหลวนเวียนตามแนวยาวของถังเติมอากาศได้ดี และยังมีรูปแบบการกวนด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศตีใต้น้ำ จนทำให้เกิดสภาวะ Anoxic Zone
1.1.4. ระบบเอสบีอาร์ : เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดเล็ก ที่เหมาะสำหรับอาคารที่มีน้ำเสียเป็นบางช่วง ซึ่งจำเป็นต้องมีบ่อเก็บน้ำเสียที่ทำหน้าที่เติมการอากาศ เพื่อทำหน้าที่ในการย่อยสลายสารอินทรีย์และแยกสลัดจ์
1.2.ระบบสระเติมอากาศ (Aerated Lagoon, AL)
ระบบสระเติมอากาศ จะติดตั้งแบบทุ่นลอยหรือยึดติดกับแท่นก็ได้ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารที่มีค่าลงทุนในการก่อสร้างต่ำ สามารถกำจัดกากตะกอนและกลิ่นเหม็นต่างๆ ได้ดี เหมาะสำหรับน้ำเสียภายในอาคารที่สกปรกมากๆ ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารระบบนี้สามารถใช้บำบัดน้ำเสียได้ทั้งน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน
1.3.ระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อปรับเสถียร (Stabilization Pond)
อาศัยธรรมชาติในการช่วยบำบัดสารอินทรีย์ในน้ำเสีย ซึ่งสามารถแบ่งการทำงานได้ 3 แบบ คือ บ่อแอนแอโรบิค บ่อแฟคคัลเททีฟ และบ่อแอโรบิค เหมาะสำหรับน้ำเสียที่มีค่าบีโอดีสูง เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่มีค่าก่อสร้างและค่าดูแลรักษาต่ำ เดินระบบง่าย แต่ต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้างมาก
2.ระบบบำบัดน้ำเสียอาคารแบบไร้อากาศ
2.1.ระบบถังกรองไร้อากาศ (Anaerobic Filter, AF)
ระบบถังกรองไร้อากาศ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์แบบไม่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ อาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ที่ยึดกับตัวกลางที่บรรจุอยู่ภายในถัง เช่น หิน หลอดพลาสติก ฯลฯ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียรูปแบบหนึ่งที่สามารถรองรับความสกปรกของสารอินทรีย์ได้สูงมาก ๆ
2.2.ระบบ Upflow Anaerobic Sludge Blanket (UASB)
การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบ Upflow Anaerobic Sludge Blanket ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียได้สูง และมีค่าใช้จ่ายในการเดินระบบต่ำ แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการผลิตก๊าซชีวภาพและการบำบัดน้ำเสียอาคารพร้อมกัน เหมาะสำหรับอาคารที่น้ำเสียมีความสกปรกสูง
บริษัทจัดการ ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียในอาคารมืออาชีพ
สำหรับใครที่สนใจอยากทำระบบบำบัดน้ำเสียใช้ภายในอาคาร ขอแนะนำบริษัท Mittwater เป็นบริษัทให้บริการออกแบบและติดตั้งระบบน้ำครบวงจร ทั้งน้ำดีและน้ำเสีย มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบน้ำโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย หรือระบบน้ำแบบไหน ก็สามารถออกแบบและติดตั้งได้อย่างมืออาชีพ หากสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย