น้ำเสียคืออะไร มาจากไหนบ้าง กับวิธีจัดการกับน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง

น้ำเสียลักษณะสีดำ บ่อบำบัดน้ำเสีย กับข้อความ น้ำเสียคืออะไร มาจากไหน

น้ำเสียคืออะไร

น้ำเสีย คือ น้ำที่ได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพจากอิทธิพลของมนุษย์ เป็นน้ำที่มีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่มากมายในปริมาณมาก จนเป็นน้ำที่ไม่ต้องการและน่ารังเกียจสำหรับคนทั่วไป หรือคุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลงได้จนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น มีส่วนผสมของน้ำมัน ผงซักฟอก สบู่ ยาฆ่าแมลง ฯลฯ

ซึ่งน้ำเสียที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ มีสาเหตุมาจากหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการเกษตร บทความนี้จึงจะพาคุณไปทำความรู้จักกับน้ำเสียให้มากขึ้น พร้อมกับบอกลักษณะของน้ำเสีย และความสำคัญของการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีความสำคัญอย่างไร ตามมาดูกันเลย

แหล่งกำเนิดน้ำเสียมาจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และการเกษตรเลี้ยงสัตว์

น้ำเสียมาจากไหน

น้ำเสียจากชุมชน

น้ำเสียจากชุมชน คือ น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมประจำวันและเป็นกิจกรรมที่เป็นอาชีพของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในชุมชน เช่น น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการประกอบอาหาร การล้างสิ่งสกปรกภายในครัวเรือน และอาคาร ร้านค้าพาณิชย์กรรม ตลาดสด สถานที่ราชการ โรงแรม โรงเรียน รวมถึงห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

น้ำเสียจากอุตสาหกรรม

สำหรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตทางอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำล้างในกระบวนการผลิตต่างๆ ทั้งน้ำหล่อเย็นที่มีความร้อนสูง และน้ำเสียจากห้องน้ำของคนงาน และถึงแม้ว่าน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมจะมีปริมาณไม่มาก แต่สิ่งสกปรกที่ผสม เจือปนอยู่ในน้ำเสียประเภทนี้มักเป็นพวกสารเคมีที่เป็นพิษ และพวกโลหะหนัก สารอินทรีย์ต่างๆ ที่มีความเข้มข้นสูง

ทำให้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นน้ำเสียที่อันตราย ไม่สามารถปล่อยออกสู่แหล่งรับน้ำธรรมชาติได้ จำเป็นต้องนำไปเข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อปรับสภาพน้ำเสียให้มีสภาพดีขึ้น ก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

น้ำเสียจากการเกษตร

น้ำเสียจากการเกษตร คือ น้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ เช่น น้ำเสียจากการล้างคอกสัตว์ คอกวัว คอกหมู เล้าไก่ น้ำจากนาข้าว ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ซึ่งน้ำเสียที่เกิดจากการเกษตรส่วนใหญ่เป็นสารเคมี ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ฯลฯ

การแยกลักษณะน้ำเสียในห้องแลป

ลักษณะของน้ำเสีย

สำหรับลักษณะของน้ำเสีย ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 3 ลักษณะ คือ ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมี และลักษณะทางชีวภาพ

1.ลักษณะน้ำเสียทางกายภาพ

  • สี : มักจะมีสีเทาปนน้ำตาลจางๆ หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดปฏิกิริยาแบบไม่ใช้ออกซิเจน สีจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นน้ำสีดำที่มาพร้อมกับกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • กลิ่น : ในน้ำเสียทั่วไปเกิดจากก๊าซ ซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน
  • ของแข็ง : เช่น หลอดกาแฟ ผ้าอนามัย เศษอาหาร แขวนลอย อาจสร้างปัญหาการอุดตัน

2.ลักษณะน้ำเสียทางเคมี

สำหรับลักษณะน้ำเสียทางเคมี ความเป็นกรด-ด่าง (pH) หากต่ำกว่า 7 น้ำจะมีสภาวะเป็นกรด ถ้าสูงกว่า 7 จะมีสภาวะเป็นด่าง ซึ่งทั่วไปแล้วสิ่งมีชีวิตในน้ำในถังบำบัดจะดำรงชีพได้ดีในน้ำที่มีค่า pH เป็นกลาง คือประมาณ 6-8 หากมีค่า pH สูงเกินหรือต่ำเกินไปจะทำให้ระบบนิเวศทางน้ำเกิดความเสียหาย

และลักษณะน้ำเสียทางเคมีที่พบมากที่สุดคือสารอินทรีย์ เมื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำ สารอินทรีย์จะถูกย่อยสลายจุลินทรีย์ หากในน้ำมีปริมาณออกซิเจนที่ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดการย่อยสลายในสภาพไร้ออกซิเจน และทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในที่สุด

3.ลักษณะน้ำเสียทางชีวภาพ

สำหรับน้ำเสียทางชีวภาพ จุลินทรีย์ ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการบำบัดน้ำเสียมากๆ เพราะในน้ำเสียมีปริมาณจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นในระบบบำบัดน้ำเสียก็อาศัยจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งเป็นตัวย่อยสลายสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำเสีย เช่น แบคทีเรีย สามารถช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้มากถึง 95%

บ่อบำบัดน้ำเสียจากการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง

การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งสู่แหล่งรับน้ำธรรมชาติ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ เพราะขึ้นชื่อว่าน้ำเสีย แน่นอนว่าย่อมเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทางน้ำและมนุษย์ อีกทั้งการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งก็ยังเป็นวิธีแก้ไขปัญหาแม่น้ำลำคลองเน่าเสีย โดยปัจจุบันนี้มีวิธีการบำบัดน้ำเสียอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

  • การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางกายภาพ : จะใช้หลักการฟิสิกส์ เช่น แรงโน้มถ่วง แรงเหวี่ยง แรงหนีศูนย์กลาง ในการกำจัดสิ่งสกปรกออกจากน้ำเสีย ส่วนมากจะเป็นสารที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ ซึ่งมีอยู่หลายวิธีการ แล้วแต่การออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย
  • การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางเคมี : จะใช้สารเคมีทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี เพื่อปรับสภาพน้ำเสียให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งมีจุดประสงค์หลายอย่าง เช่น ทำให้ของแข็งที่ละลายน้ำได้ตกตะกอน ทำให้ตะกอนขนาดเล็กมีขนาดใหญ่ขึ้น ฯลฯ
  • การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีวภาพ : อาศัยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กช่วยเปลี่ยนน้ำเสียให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมที่สุด และไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการบำบัดด้วยวิธีการทางชีวภาพนั้นทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดแบบ AS แบบจานหมุนชีวภาพ แบบบ่อปรับเสถียร บ่อเติมอากาศ ระบบบึงประดิษฐ์ และระบบคลองวนเวียน

สิ่งที่สำคัญในการทำระบบบำบัดน้ำเสียอีกหนึ่งอย่างไม่มองข้ามไม่ได้ ก็คือการเลือกทำระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสมกับคุณภาพของน้ำเสีย ก่อนจะปล่อยออกน้ำสู่ธรรมชาติ เพื่อประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด