ระบบบำบัดน้ำเสีย MBR ย่อมาจาก Membrane Bioreactor คือ นวัตกรรมในการบำบัดน้ำเสียที่ถูกพัฒนามาจากระบบบำบัดน้ำเสีย CAS เป็นการผสมผสานระหว่างการใช้จุลินทรีย์กำจัดของเสียที่ละลายในน้ำ และการกรองผ่านเยื่อเมมเบรนที่มีรูขนาดเล็ก เพื่อแยกเอาของเสียที่เป็นตะกอนออกจากน้ำเสีย ซึ่งขนาดในการกรองต้องไม่เกิน 1 ใน 5,000 ส่วนของมิลลิเมตร
ทำให้น้ำที่ได้ใสสะอาดมากขึ้น และใช้เวลาในการบำบัดน้ำเสียรวดเร็วกว่าปกติ และยังทำให้ระบบน้ำมีขนาดเล็กลง แต่ยังคงได้น้ำทิ้งคุณภาพสูง ที่สามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสำหรับน้ำเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรมมากๆ
และสำหรับใครที่สงสัยว่าระบบบำบัดน้ำเสีย MBR คืออะไร บทความนี้ได้รวบรวมคำตอบไว้หมดแล้วว่าทำไมจึงต้องทำระบบบำบัดน้ำเสีย MBR มีขั้นตอนการทำงานและมีข้อดีอะไร มาดูกันเลย
ทำไมต้อง MBR
- เป็นระบบน้ำที่ง่ายต่อการขยายระบบ ด้วยการออกแบบเป็นโมดูล
- สะดวก สบายมากขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาถังตกตะกอนและถังกรองทราย ครบจนในระบบเดียว
- ใช้เวลาในการบำบัดน้ำเสียเพียง 4-8 ชั่วโมง (ระบบเดิมใช้เวลาในการบำบัด 16-24 ชั่วโมง)
- สามารถช่วยลดตะกอนและแบคทีเรีย ได้ 20-40% เมื่อเทียบกับระบบบำบัดน้ำเสียแบบเก่า
- ขนาดของระบบเล็กลง เหลือเพียงประมาณ 25-35%
- สามารถกำจัดเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ให้ไหลออกสู่สาธารณะได้ดี
- เป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถเพิ่มความสามารถในการกรองได้ดีกว่าระบบเดิม
- สามารถกำจัดไนโตรเจนที่เป็นของเสียที่กำจัดได้ยากในระบบบำบัดน้ำแบบเดิม
- ช่วยลดตะกอนในน้ำทิ้งให้เหลือน้อยกว่า 1 ในล้านส่วน เมื่อเทียบกับระบบบำบัดน้ำเสียแบบเก่า 20 ในล้านส่วน
ขั้นตอนการทำงานของ MBR
1.Inlet Feed Tank
สำหรับขั้นตอนแรกของการทำงานระบบบำบัดน้ำเสีย MBR สิ่งที่จำเป็นมากๆ ก็คือ Inlet Feed Tank หรือถังสำหรับพักน้ำเสียที่หลายคนรู้จัก เป็นถังที่ทำหน้าพักน้ำเสียเอาไว้ตามชื่อเรียก จากนั้นก็จะส่งน้ำเสียที่เก็บไปบำบัดในขั้นตอนต่อไปในถังเติมอากาศ เพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์
2.Aeration Tank
ในขั้นตอน Aeration Tank (ถังเติมอากาศ) เป็นถังที่ใช้เติมอากาศเข้าไปในน้ำ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการตกตะกอนแบบเร่ง ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์แบบ Aerobi โดยเครื่องเป่าอากาศจะทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ออกซิเจน และ หยุดเติมอากาศในบางจังหวะ เพื่อทำให้เกิดกระบวนการ De-Nitrification กำจัดไนโตรเจนและฟอสฟอรัส
3.Membrane Tank
ต่อมา Membrane Tank จะทำหน้าที่เป็นถังสำหรับเลี้ยงตะกอนจุลินทรีย์ในน้ำเสียและแยกตะกอนจุลินทรีย์ออกจากน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว สารอินทรีย์จะถูกย่อยสลายอีกครั้งแบบ Aerobi มีเครื่องเป่าอากาศที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ออกซิเจนและทำการกวนตะกอนจุลชีพไม่ให้เกิดการอุดตันที่ผิวของ Membrane
ซึ่งจะทำการดึงน้ำใสด้วยการใช้ Permeated Pump กรองผ่าน Membrane ที่จุ่มอยู่ในถังตกตะกอนจุลชีพ โดยระบบนี้สามารถเลี้ยงตะกอนจุลชีพได้เข้มข้นสูงสุดถึง 12,000 มิลลิกรัม/ลิตร ทำให้สามารถลดขนาดของถัง Aeration Tank ให้เล็กลงได้ 2-3 เท่า
4.Sludge Holding Tank
สำหรับขั้นตอนสุดท้าย Sludge Holding Tank (ถังพักตะกอน) ตะกอนจากถังที่ปรับสภาพน้ำเสีย ถังปรับค่า Ph ถังกวนเร็ว ถังกวนช้า และถังตกตะกอน จะถูกสูบและส่งมาพักไว้ที่ถัง Sludge Holding Tank เพื่อรอสูบกากไปกำจัดยังศูนย์
ข้อดีของระบบ MBR
- สามารถดูแลรักษาได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน คุ้มค่า คุ้มราคา
- สามารถรับโหลดความเข้มข้นของตะกอนจุลินทรีย์ในน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 เท่า ของระบบน้ำอื่นๆ
- ทำให้น้ำเสียที่ต้องการทิ้ง มีคุณภาพที่สูงมากขึ้น คุณภาพของน้ำมีความคงที สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง ได้อย่างปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายหลัง
- สำหรับน้ำเสียที่มีค่าความขุ่นต่ำกว่า 1 NTU สามารถนำไป Re-Used ได้
- โอกาสในการเกิดตะกอนส่วนเกินต่ำ กว่าทำบำบัดน้ำเสียด้วยระบบอื่นๆ
- ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย MBR ไม่มาก เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ทำระบบบำบัดน้ำเสียน้อย
- สามารถเพิ่มขีดความสามารถของระบบเดิมได้ โดยไม่ต้องสร้างบ่อเพิ่ม